แม้จะมีข่าวเชิงลบที่ส่งผลต่อความเสี่ยงจากจีนและตะวันออกกลาง แต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในตลาด ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากเริ่มต้นสัปดาห์ไปในทิศทางที่ดี โดยอาจมีสาเหตุมาจากช่วงวันหยุดในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ปรับลดลงในวันศุกร์ ซึ่งท้าทายการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปี 2024 ต่างจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึงสามครั้ง
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงร่วงลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปรับตัวสูงขึ้น คู่เงิน EURUSD ได้รับประโยชน์จากความกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะไม่สามารถขยายการดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังเดือนมิถุนายน ในขณะเดียวกัน คู่เงิน GBPUSD ก็ได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดจากแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) นอกจากนี้ คู่เงิน USDJPY ยังคงเผชิญแรงกดดันจากสัญญาณเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้นประกอบกับข่าวสารที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทางจากการประชุมนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ)
คู่เงิน AUDUSD พุ่งสูงขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขยอดค้าปลีกของออสเตรเลียที่ขยายตัวในเดือนเมษายน เช่นเดียวกับคู่เงิน NZDUSD ที่ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 วัน สาเหตุหลักน่าจะมาจากแรงหนุนจากข่าวการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของจีน ประกอบกับมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้สูงของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ)
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบรักษาระดับการฟื้นตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจากจุดต่ำสุดในรอบหลายวัน ท่ามกลางความคาดหวังเกี่ยวกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นจากจีน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุปทานน้ำมันดิบอันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงพยายามรักษาโมเมนตัมขาขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง
ในอีกทางหนึ่ง BTCUSD และ ETHUSD ต่างชะลอตัวจากการพุ่งสูงขึ้นล่าสุด ในขณะที่เทรดเดอร์กำลังรอคอยแนวโน้มเชิงบวกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุมัติ spot ETF
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ช่วงวันหยุดของธนาคารในสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ไม่น่าประทับใจนักในวันก่อนหน้า ได้จุดกระแสความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งส่งผลต่อตลาดและหนุนดอลลาร์สหรัฐฯให้แข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจัยเดียวกันนี้ เมื่อร่วมกับความคาดหวังเชิงบวกอย่างระมัดระวังจากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดีของตลาดหุ้น ยังสร้างแรงกดดันด้านลบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอีกด้วย น่าสังเกตว่า แม้ตลาดจะกลับมาเปิดทำการเต็มรูปแบบในวันอังคาร แต่ก็ยังไม่สามารถหนุนช่วงแนวโน้มขาขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯได้ เนื่องจากนักลงทุนกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์นี้อย่าง ดัชนีราคา PCE พื้นฐานสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญ
เนื่องจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมันจึงเริ่มต้นสัปดาห์นี้ในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำกลับขาดแรงผลักดันขาขึ้น ท่ามกลางข่าวสารที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทางจากทั้งทางฝั่งเอเชียและตะวันออกกลางในช่วงต้นวัน โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน และเน้นย้ำถึงความพยายามของสหรัฐฯในการควบคุมเส้นทางเดินเรือเพื่อสกัดกั้นอำนาจของจีน ในขณะที่ ความตึงเครียดทางการเมืองในเมืองราฟาห์ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากมีทหารอียิปต์ 1 นาย เสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับทหารอิสราเอล
ในทางตรงกันข้าม ดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง และข่าวที่ว่าเซี่ยงไฮ้ประกาศมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับเป็นแรงหนุนให้เกิดบรรยากาศเชิงบวกในช่วงเช้าของวันอังคาร
ด้วยปัจจัยดังกล่าว คู่เงิน AUDUSD ที่ทำหน้าที่เป็นบารอมิเตอร์ความเสี่ยงจึงปรับตัวสูงขึ้นเป็นวันที่สามติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของยอดค้าปลีกออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน +0.1% เมื่อเทียบกับการรายงานก่อนหน้าที่ -0.4% ในขณะที่ คู่เงิน NZDUSD ปรับตัวตามมาตรการเชิงคุณภาพของ RBNZ เพื่อลดปัญหาหนี้เสีย
ในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน EURUSD พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ โดยปรับสูงขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนใหญ่แสดงความเห็นยืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน แต่ยังคงลังเลที่จะให้เบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศยูโรโซนในอนาคต เจ้าหน้าที่สำคัญที่ออกมากล่าวยังรวมถึง Philip Lane หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางยุโรป และ Francois Villeroy de Galhau ผู้กำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ในทำนองเดียวกัน Ben Broadbent รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ยังคงยืนยันแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ BoE โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินดำเนินการล่าช้าอันเนื่องมาจากการตัดสินใจแบบคิดตามๆกัน (groupthink) ปัจจัยเพิ่มเติมที่หนุนให้คู่เงิน GBPUSD ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายวัน ยังมาจากการรายงานข้อมูลล่าสุดจากสมาคมค้าปลีกอังกฤษ (BRC) ที่รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อราคาสินค้าในร้านค้าของสหราชอาณาจักรกลับมา "สู่ระดับปกติ" อีกครั้ง โดยเติบโต 0.6% YoY สำหรับเดือนพฤษภาคม ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.0% และการรายงานก่อนหน้าที่ 0.8%
ทั้งนี้ คู่เงิน USDJPY ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ส่วนใหญ่ออกมาโต้แย้งความกังวลของตลาดเกี่ยวกับศักยภาพในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2024 อีกปัจจัยที่หนุนแรงเทขายคู่เงินเยนเพิ่มเติม คือ ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับลดลง และความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพพอที่จะเอาชนะภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ(stagflation) ยังยิ่งสร้างแรงกดดันด้านลบต่อคู่เงินเยนด้วยเช่นกัน
หลังจากบรรยากาศการซื้อขายที่ซบเซาในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ วันอังคารนี้คาดว่าจะเป็นอีกวันที่ตลาดคึกคัก เนื่องจากเทรดเดอร์ทั้งจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้งประกอบกับความผันผวนในตลาด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุนในตลาดวันนี้อย่าง ข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและข้อมูลตัวเลขที่อยู่อาศัยจากการสำรวจของ The Conference Board (CB) ของสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำดัลลัส และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของแคนาดา รวมไปถึงการแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีกด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่าความกังวลใจเกี่ยวกับจำนวนครั้งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2024 อาจยังคงท้าทายช่วงแนวโน้มขาขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ เว้นแต่ว่าข้อมูลและสถิติทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ FOMC ในวันนี้ จะช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยปัจจัยเดียวกันนี้ยังอาจช่วยรักษาโมเมนตัมล่าสุดของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !