ช่วงวันหยุดในบางภูมิภาคของเอเชีย ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และความคลุมเครือเกี่ยวกับสถานการณ์ในจีน รวมถึงปัญหาทางการเมืองในตะวันตกและตะวันออกกลาง ล้วนส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินอ่อนตัวลงในช่วงต้นวันจันทร์ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังและปฏิทินข่าวเศรษฐกิจที่เบาบาง ยังจำกัดโมเมนตัมของตลาดไว้จนถึงตอนนี้
ถึงกระนั้นก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังคงรักษาระดับการแข็งค่าขึ้นก่อนหน้านี้ไว้ได้และสร้างแรงกดดันด้านลบต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ และสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans
อย่างไรก็ตาม คู่เงิน EURUSD ยังคงได้รับแรงกดดัน เนื่องจากเทรดเดอร์ยังไม่มั่นใจในท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในขณะที่ สถานการณ์ทางการเมืองของยูโรโซนยังคงตึงเครียด คู่เงิน GBPUSD,คู่เงิน AUDUSD และคู่เงิน NZDUSD ต่างก็ปรับตัวลงเช่นกัน ในอีกทางหนึ่ง ช่วงแนวโน้มขาขึ้นคู่เงิน USDJPY กำลังทดสอบแนวต้านสำคัญระยะสั้น อย่างไรก็ตาม คู่เงิน USDCHF และคู่เงิน USDCAD มีการปรับตัวสอดคล้องกับความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำชะลอตัวลงจากการพุ่งสูงขึ้นในรอบสัปดาห์ โดยร่วงลงระหว่างวัน
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล BTCUSD ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วัน ขณะที่ ETHUSD ยุติช่วงขาขึ้น 3 วันเช่นกัน ท่ามกลางจำนวนบัญชีที่ใช้งานจริงของบิตคอยน์ที่ลดต่ำลงและจุดยืนที่แข็งกร้าวของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯต่อสกุลเงินดิจิทัล
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UoM) และตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 1 ปีข้างหน้ามีการรายงานออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์และต่ำกว่าการรายงานก่อนหน้า ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงยืนยันจุดยืนเชิงเข้มงวดใน Dot Plot ล่าสุดและส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในวันศุกร์และตลอดทั้งสัปดาห์ รวมไปถึงการขยับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงเช้าวันจันทร์นี้ด้วย ในบรรดาเหล่าผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) Neel Kashkari ประธานและกรรมการผู้จัดการธนาคารกลางสหรัฐฯประจำมินนิแอโปลิส Austin Goolsbee ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำชิคาโก และ Loretta J. Mester ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำคลีฟแลนด์ จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
นอกเหนือไปจากความกังวลเกี่ยวกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แล้ว บรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังของตลาด ข้อมูลเศรษฐกิจที่ผสมผสานจากจีน และข้อมูลอัพเดทที่ไม่สู้ดีจากยุโรป ยังเอื้อให้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ต่อเนื่องจากแนวโน้มขาขึ้นสองสัปดาห์
ในช่วงสุดสัปดาห์ สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรายงานจากสื่อจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ซึ่งชี้ถึงข้อจำกัดทั้งภายในและภายนอกประเทศสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของธนาคารกลางจีน ส่งผลกระทบให้สกุลเงินหยวน (CNY) อ่อนค่าลง แม้ธนาคารกลางจีนจะออกมาปกป้องการคงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อระยะกลาง (MLF) ในเช้าวันจันทร์นี้ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นที่ผันผวนของตลาด รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานในหลากหลายทิศทางจากจีน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯล่าสุด ยังส่งผลกระทบต่อสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนมีการปรับลดลง ขณะที่ ยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤษภาคมกลับปรับตัวดีขึ้น
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงในตลาด ความตึงเครียดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่จีนกล่าวอ้างว่า เรือของฟิลิปปินส์ชนเข้ากับเรือของจีนในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ จีนยังพยายามควบคุมภาวะตลาดหุ้นตก (equity rout) และลดการเก็งกำไรในตลาดด้วยการออกกฎที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการขายชอร์ต (short-selling)
ในอีกด้านหนึ่ง ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวช้าลง โดยระบุว่า "เว้นแต่จะมีแรงกระแทกสำคัญ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมาย 2% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025" ด้วยเหตุนี้ ผู้กำหนดนโยบายจึงตัดความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ แต่อย่างไรก็ตามกลับยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเงินสกุลยูโรได้ นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในฝรั่งเศสทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า Emmanuel Macron ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอยู่ อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กล่าวไปแล้ว ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของนิวซีแลนด์ (NZ Services PMI) สำหรับเดือนมิถุนายนที่ถดถอยลงนั้น ส่งผลให้คู่เงิน NZDUSD ปรับตัวลดลง ดังนั้น คู่เงินกีวีจึงร่วงลงมากที่สุดในบรรดาคู่สกุลเงิน G10 ตามมาด้วยคู่เงิน AUDUSD ซึ่งเตรียมพร้อมรับการประกาศผลการประชุมนโยบายการเงินในวันอังคารนี้จากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในขณะที่แบกรับภาระจากสภาพการณ์ที่เลวร้ายในจีน ร่วมกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และความเชื่อมั่นที่ซบเซา ในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน USDCAD พลิกกลับการร่วงลงในวันก่อนหน้า เป็นผลมาจากดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นประกอบกับราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดาที่ปรับลดลง รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางแคนาดา (BOC)
คู่เงิน USDCHF พุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน โดยฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ เนื่องจากเทรดเดอร์ต่างเตรียมพร้อมสำหรับการประกาศนโยบายการเงินของธนาคารกลางสวิส (SNB) ในวันพฤหัสบดีนี้ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด SNB ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเหล่านักลงทุนคาดว่า SNB จะยุติการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในสัปดาห์นี้
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน USDJPY ปรับตัวสอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นประจำเดือนเมษายนที่ปรับลดลง และความไม่มั่นใจของตลาดต่อท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) นอกจากนี้ การฟื้นตัวล่าสุดของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังหนุนให้คู่เงินเยนขยับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ในขณะเดียวกัน คู่เงิน GBPUSD ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยร่วงลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่เทรดเดอร์ต่างเตรียมพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้และการประกาศนโยบายการเงินจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถฟื้นตัวจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์และความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และปริมาณคงคลังน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อแรงเทซื้อน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน ส่วนทางด้านราคาทองคำก็ชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์จากการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการร่วงลงระหว่างวัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในจีนและดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น
เช่นเดียวกับโมเมนตัมในช่วงต้นสัปดาห์ คาดว่าเหล่านักลงทุนจะยังคงเห็นการเริ่มต้นสัปดาห์ที่ซบเซาท่ามกลางปฏิทินเศรษฐกิจที่เบาบางและปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในตลาดที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทาง อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ Philip R. Lane หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ในวันจันทร์นี้ จะช่วยกำหนดทิศทางของคู่เงิน EURUSD ในขณะที่แถลงการณ์จาก John Williams ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำนิวยอร์ก, Patrick Harker ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯประจำฟิลาเดลเฟีย และ Lisa Cook ผู้ว่าการคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐฯในระยะนี้ นอกเหนือไปจากการประชุมของธนาคารกลางแล้ว ดัชนีภาคการผลิต Empire State Manufacturing Index ของนิวยอร์กประจำเดือนมิถุนายนจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักเทรดรายวัน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !