ความเชื่อมั่นของตลาดยังคงคลุมเครือในช่วงเช้าวันพุธ แม้ว่าความเชื่อมั่นเชิงบวกจะได้รับแรงหนุนจากการรับทราบถึงภาวะเงินเฟ้อลดลงของประธาน Fed Jerome Powell ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯที่ส่วนใหญ่มีทิศทางดีขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การรายงานข่าวสารทางภูมิรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการพร้อมรับความเสี่ยงของเหล่านักลงทุน ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังก่อนการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ท่ามกลางปัจจัยเหล่านี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ยุติการร่วงลงติดต่อกัน 4 วัน ขณะที่ดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบสัปดาห์ ถึงกระนั้น สกุลเงินกลุ่ม Antipodeans และสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงขาดแรงผลักดัน เนื่องจากการรายงานข่าวสารที่หลากหลายและความกังวลก่อนการเปิดเผยข้อมูล/เหตุการณ์สำคัญ
คู่เงิน EURUSD พลิกกลับการพุ่งสูงขึ้นของวันก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แทบจะยืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะมีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทางก็ตาม ในขณะเดียวกัน คู่เงิน GBPUSD ปิดตลาดด้วยการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 วัน เนื่องจากเทรดเดอร์กำลังรอคอยการเปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ และตัวเลขการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน ADP
อย่างไรก็ตาม คู่เงิน USDJPY พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 38 ปีจากการปรับตัวลงของตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการของญี่ปุ่น และการเตรียมการของเหล่านักลงทุนสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม
ในอีกทางหนึ่ง คู่เงิน AUDUSD ไม่ตอบสนองต่อการดีดตัวสูงขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ คู่เงิน NZDUSD กลับชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อวานนี้ เนื่องจากดัชนี PMI ภาคบริการ Caixin ของจีนปรับตัวลงร่วมกับการรายงานข่าวสารที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในตลาด นอกจากนี้ คู่เงิน USDCAD ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากร่วงลงมากที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่แข็งแกร่งประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อไป
ส่วนทางด้านราคาน้ำมันดิบมีราคาเสนอซื้อเป็นบวก โดยพลิกกลับการร่วงลงของวันก่อนหน้าจากจุดสูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับลดลงอย่างไม่คาดคิด รวมถึง ความกังวลทางภูมิรัฐศาสตร์ระลอกใหม่ที่บ่งชี้ถึงวิกฤติด้านอุปทาน ในขณะเดียวกัน ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงเคลื่อนไหวภายในกรอบการซื้อขายประจำสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ชะลอตัว และบรรยากาศความระมัดระวังในตลาด
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล BTCUSD และ ETHUSD ร่วงลงประมาณ 1.5% เป็นวันที่สองติดต่อกัน ขณะที่ นักลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตัว spot ETH ETF โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลจำนวนผู้ใช้งานรายวัน (daily active address) ของ Bitcoin ที่แตะระดับสูงสุดในรอบหลายสัปดาห์
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
การยอมรับการลดลงของภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) Jerome Powell มีความสำคัญต่อตลาดมากกว่าการชื่นชมสภาพการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการแสดงความพร้อมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานของเขาในวันก่อนหน้า ไม่เพียงแต่คำกล่าวของประธาน Fed เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและแนวโน้มการดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แม้แต่รายงานจำนวนตำแหน่งงานว่าง (JOLTS) ของสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวดีขึ้นก็ยังไม่สามารถหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นได้ในวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ซึ่งเป็นมาตรวัดค่าเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินหลักหกสกุล ปิดตลาดด้วยการร่วงลงรายวันมากที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์ ขณะที่ร่วงลงติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายที่มีความระมัดระวังของตลาดก่อนการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการ ISM ของสหรัฐฯสำหรับเดือนมิถุนายนและตัวเลขการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน ADP ของเดือนเดียวกันนี้ จะช่วยให้ DXY มีโอกาสฟื้นตัว
แม้ประธาน Fed จะไม่สามารถกระตุ้นฝั่งขาขึ้นของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ได้ แต่คู่เงิน EURUSD ยังคงปิดตลาดในแดนบวกจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายนที่ค่อนข้างมีทิศทางเป็นบวก ถึงกระนั้น สัญญาณที่ชัดเจนจากผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคตยังคงท้าทายแรงเทซื้อยูโรเช่นกัน นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่ปรับลดลงในสหราชอาณาจักร (UK) รวมถึงความกังวลก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ยังเป็นอุปสรรคต่อแรงเทซื้อคู่เงิน GBPUSD หลังจากอยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้นติดต่อกัน 4 วัน
ในทางตรงกันข้าม คู่เงิน USDJPY พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 1986 ขณะที่ช่วงแนวโน้มขาขึ้นเข้าใกล้แนวต้านสำคัญที่ราวๆ 162.00 ด้วยปัจจัยดังกล่าว คู่เงินเยนจึงปรับตัวสอดคล้องกับตัวเลขค่าดัชนี PMI ภาคบริการของ Jibun Bank ของญี่ปุ่นที่ปรับตัวลงในเดือนมิถุนายน รวมไปถึงการเตรียมตัวของตลาดสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตลาดพันธบัตร
ส่วนทางด้านคู่เงิน AUDUSD เคลื่อนไหวสวนทางแนวโน้มของตลาดด้วยการพุ่งสูงขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกัน หลังตัวเลขยอดค้าปลีกและใบอนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ของออสเตรเลียออกมาดีเกินคาด ทว่า คู่เงิน NZDUSD กลับปรับตัวลดลงหลังจากที่พุ่งสูงขึ้นในวันก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในจีน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างจีนกับรัสเซีย และการกล่าวอ้างว่าจีนให้การสนับสนุนอาวุธแก่รัสเซียในสงครามกับยูเครน รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเป็นปัจจัยที่ท้าทายสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินกลุ่ม Antipodeans ซึ่งในขณะเดียวกัน ยังมีการรายงานข่าวถึงเหตุการณ์ที่จีนทำการยึดเรือประมงของไต้หวัน และสงครามการค้าระหว่างจีนกับประเทศตะวันตกอีกด้วย
คู่เงิน USDCAD ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากร่วงลงอย่างหนักในรอบกว่า 1 สัปดาห์ โดยเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯที่กระตุ้นการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของแคนาดา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นจากการดึงกลับของวันก่อนหน้าจากจุดสูงสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากที่มีการรายงานจากภาคอุตสาหกรรมที่ชี้ว่ามีการดึงปริมาณน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองเป็นจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้ง ข่าวความตึงเครียดระลอกใหม่ในตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบต่อความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ ปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบโลกที่ลดลง และความกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนเบอริลที่ผ่อนคลายลง
ทางฝั่งของราคาทองคำยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก ขณะที่ นักลงทุนต่างไม่ได้รับสัญญาณสำคัญจากการแถลงการณ์ของประธาน Fed Jerome Powell และยังคงรอคอยการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการของ ISM ในวันนี้ รวมถึงรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯในวันศุกร์เพื่อยืนยันการดำเนินการนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในปี 2024 นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ชะลอตัวและการรายงานข่าวในหลากหลายทิศทางจากจีนยังส่งผลต่อโมเมนตัมของ XAUUSD ในภายหลังอีกด้วย
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รอบสุดท้ายประจำเดือนมิถุนายนของยูโรโซน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงดัชนี PMI ภาคบริการ ISM ของสหรัฐฯในเดือนเดียวกัน และตัวเลขการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน ADP จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของนักเทรดรายวัน นอกเหนือไปจาก แถลงการณ์จากประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) Christine Lagarde และเจ้าหน้าที่บางส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ควรติดตามแล้ว ข้อมูลการค้าของแคนาดาและปริมาณสำรองน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐฯก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเพิ่มเติมที่ควรติดตามเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน
ตลาดยังคงขาดความเชื่อมั่นในทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed เมื่อพิจารณาจากสัญญาณเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจพลิกกลับการฟื้นตัวขึ้นล่าสุด หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยลง ปัจจัยนี้ยังอาจส่งผลให้สกุลเงินหลักอื่นๆและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มขาขึ้นของคู่เงิน EURUSD และคู่เงิน GBPUSD ดูเหมือนจะมีจำกัด ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในยูโรโซนและสหราชอาณาจักร ถึงกระนั้น คู่เงิน USDJPY ยังคงสามารถรักษาระดับการปรับตัวสูงขึ้นล่าสุดไว้ได้ ในขณะที่สกุลเงินกลุ่ม Antipodeans อาจขาดแรงผลักดันขาขึ้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของจีน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !