ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มต้นสัปดาห์สำคัญอย่างเงียบเหงา ขณะที่เทรดเดอร์กำลังมองหาสัญญาณยืนยันแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางรายหลักหลายแห่ง รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ส่งผลต่อตลาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ช่วงวันหยุดในหลายประเทศของยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ประกอบกับปฏิทินเศรษฐกิจที่เบาบาง ก็เป็นอีกปัจจัยที่จำกัดการเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงเช้าวันจันทร์
ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงได้รับแรงกดดัน หลังจากร่วงลงในรอบสัปดาห์ ขณะที่เทรดเดอร์เริ่มยอมรับสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2024 สิ่งนี้สอดคล้องกับท่าทีของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ลังเลที่จะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังเดือนมิถุนายน ซึ่งส่งผลกระตุ้นคู่เงิน EURUSD ในขณะเดียวกัน คู่เงิน GBPUSD ก็ขยับตัวสูงขึ้นท่ามกลางแนวโน้มสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากผู้กำหนดนโยบายธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน USDJPY กลับเคลื่อนไหวสวนทางกับแนวโน้มของตลาด ในขณะที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ตลอดจนการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ทางฝั่งของคู่เงิน AUDUSD ยังคงปรับตัวขึ้น หลังจากพุ่งสูงขึ้นในรอบสัปดาห์ ทว่าคู่เงิน NZDUSD กลับชะลอตัวก่อนการประกาศนโยบายการเงินของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ในสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับคู่เงิน USDCAD ที่ยังคงอ่อนตัว หลังจากร่วงลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่ตอบสนองต่อความกังวลเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) นอกจากนี้ ราคาทองคำยังพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยเป็นผลมาจาก ปัจจัยทางเทคนิคที่เกิดการ breakout ประกอบกับการที่นักลงทุนมุ่งเป้าไปที่ทองคำมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล BTCUSD ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วด้วยการพุ่งสูงขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ส่วนทางด้าน ETHUSD ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นกัน หลังจากปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีการซื้อขายที่คึกคักมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากเงินบริจาคทางการเมืองที่ใช้สกุลเงินดิจิทัล และการเตรียมการก่อนการอนุมัติ spot Ethereum ETF ท่ามกลางดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
แม้ว่าตลาดจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก แต่ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงได้รับแรงกดดันท่ามกลางความกังวลเรื่องแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed สองครั้งในปี 2024 การร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้รับสัญญาณจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ปรับตัวลงในสัปดาห์ที่แล้ว และการที่เจ้าหน้าที่ Fed ไม่สามารถคลายความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างแรงกดดันด้านลบต่อค่าเงิน USD อาจเป็นความเชื่อมั่นเชิงบวกอย่างระมัดระวังในตลาดหุ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกระทรวงการคลังที่มีการรายงานออกมาในหลากหลายทิศทาง นอกจากนี้ การรายงานข่าวในช่วงสุดสัปดาห์เกี่ยวกับการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจำนวนมากของจีนเพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ ยังท้าทายแรงเทซื้อดอลลาร์สหรัฐฯอีกด้วย
แม้เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลง แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีท่าทีเข้มงวดกว่าธนาคารกลางหลักรายอื่นๆ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะในจีน รัสเซีย และตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ มีการรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีอิหร่าน Ebrahim Raisi และรัฐมนตรีต่างประเทศ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ยิ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางมากขึ้น
นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานการวิเคราะห์ที่ชี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อาจจะต้องเผชิญแรงกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมีท่าทีสนับสนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แม้ว่าค่าเงินเยนจะร่วงลงอย่างหนักก็ตาม
อีกทางด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนใหญ่ยืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน แต่ทิศทางหลังจากนั้นยังคงคลุมเครือ สิ่งนี้ส่งผลให้คู่เงิน EURUSD พุ่งสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเดือนโดยได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง เช่นเดียวกันกับคู่เงิน GBPUSD ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะมีความกังวลหลายประการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร เนื่องจากการพูดคุยกันของ BoE ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด แม้ว่านักลงทุนในตลาดจะคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2024
ในอีกทางหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลงอย่างต่อเนื่อง และความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการขยายเวลาข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ นอกจากนี้ ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังบ่งบอกถึงภาวะวิกฤตด้านอุปทาน ในขณะที่ความพร้อมของจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งทะลุแนวต้านสำคัญที่ $2,400 ซึ่ง ณ ขณะนี้ทำหน้าที่เป็นแนวรับ โดยแตะระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาลที่บริเวณ $2,450 คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายใหม่ที่ระดับ Fibonacci Extension 61.8% ของการเคลื่อนไหวในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ $2,455 อีกทั้ง ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ซบเซา รวมถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนเนื่องจากความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรายหลักทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆเพิ่มเติมที่หนุนแรงเทซื้อ XAUUSD ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีน และตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ
เมื่อพิจารณาจากช่วงวันหยุดในตลาดยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ประกอบกับการขาดข้อมูลเศรษฐกิจหรือกิจกรรมสำคัญ นักลงทุนในตลาดอาจยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) บางส่วน อาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น หากพวกเขาสามารถโน้มน้าวให้เทรดเดอร์เชื่อว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะถูกเลื่อนออกไป นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของทางฝั่งชาติตะวันตกต่อโศกนาฏกรรมในอิหร่านอาจช่วยกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เหนือสิ่งอื่นใด การรายงานข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีผู้จัดการการผลิต (PMI) ประจำเดือนพฤษภาคม และยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามเพื่อดูทิศทางที่ชัดเจน
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !