สถานการณ์การพร้อมรับความเสี่ยงในตลาดยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกเล็กน้อย ขณะที่ มีสัญญาณเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ซึ่งความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากจีนและการตอบสนองที่ล่าช้าของอิหร่านต่ออิสราเอล ยังส่งผลกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐฯอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนก่อนการประชุมนโยบายการเงินล่าสุดของ Fed กลับจำกัดโมเมนตัมของตลาด
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ปรับตัวตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล แตะระดับต่ำสุดประจำปีในช่วงสามวันที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กำลังฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย
ในอีกทางหนึ่ง ยูโร (EURUSD) พุ่งสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบปี โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เปลี่ยนแปลงในยูโรโซนและเยอรมนี
ขณะที่ ปอนด์สเตอร์ลิง (GBPUSD) ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ทะลุแนวต้านอายุ 10.5 เดือน แม้จะมีสัญญาณผันผวนเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของธนาคารกลางอังกฤษ
ส่วนทางด้าน เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อ่อนตัวลงและความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUDUSD) แตะจุดสูงสุดในรอบห้าสัปดาห์ โดยพุ่งสูงขึ้นเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน ขณะที่ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZDUSD) ยังคงพยายามรักษาระดับการปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าระดับราคาจะแตะที่ระดับสูงสุดในรอบสองเดือนและตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจ NZ ที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ ดอลลาร์แคนาดา (USDCAD) ปรับลดลงเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน ใกล้กับระดับต่ำสุดในรอบเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดัน โดยร่วงลงสี่วันติดต่อกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความต้องการพลังงานและตัวเลขปริมาณน้ำมันคงคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิด
ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดตลอดกาลที่ราวๆ $2,531 ทว่า กลับเกิดการดึงกลับเล็กน้อยในภายหลัง ซึ่งตอนนี้กำลังกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ นักลงทุนแสวงหาที่หลบภัยท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาด
เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin (BTCUSD) และ Ethereum (ETHUSD) ปิดตลาดวันอังคารด้วยการร่วงลงเล็กน้อย โดยประสบปัญหากับความกังวลของตลาดเกี่ยวกับความท้าทายด้านกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้นหากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ถึงกระนั้น ข้อมูล on-chain ที่แข็งแกร่ง ปริมาณการโอนย้าย และความสนใจจากสถาบันการเงินยังคงทำให้แรงเทซื้อมีความหวัง ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเช้าวันพุธ
มาติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสินทรัพย์เหล่านี้:
ข้อมูลการจ้างงานล่าสุดของสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงสภาพการจ้างงานที่ผ่อนคลายลง ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน โดยผลสำรวจรายไตรมาสของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำนิวยอร์กเผยให้เห็นถึงจำนวนผู้หางานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่ดัชนีการจ้างงานนอกภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐฯประจำฟิลาเดลเฟียปรับลดลงไปสู่จุดต่ำสุดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงผู้ว่าการ Michelle Bowman ได้เสนอข้อชี้แนะว่า หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย ก็อาจเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่เข้มงวดจนเกินไป ซึ่งแนวโน้มที่มีท่าทีหนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงินนี้ยังส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ ข่าวดีจากจีนและตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่จีนกำลังพิจารณาแผนที่จะจัดหาทุนให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อซื้อบ้านที่ยังขายไม่ออก ในขณะที่ อิหร่านได้มีการแถลงว่าการตอบโต้อิสราเอลของพวกเขานั้นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีนำเข้าของยุโรปต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน
ด้วยเหตุนี้ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) จึงปรับลดลง เช่นเดียวกับดัชนีสำคัญในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวลงเล็กน้อย
อีกทั้ง ด้วยปัจจัยเดียวกันนี้ คู่เงิน EURUSD ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบปี เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากเยอรมนีและยูโรโซนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่ตอบสนองต่อความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ในอีกทางหนึ่ง แรงเทซื้อคู่เงิน GBPUSD มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ผลักดันราคาขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ท่ามกลางความหวังว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการพูดคุยเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และแนวต้านทางเทคนิคที่แข็งแกร่งอยู่ในช่วง 1.3050-55 ซึ่งจะท้าทายช่วงแนวโน้มขาขึ้นของคู่เงิน GBPUSD
นอกเหนือไปจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงเทขายคู่เงิน USDJPY ยังคงควบคุมตลาดได้ จากผลสำรวจล่าสุดของ Reuters พบว่า 57% ของนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า BoJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปี นอกจากนี้ Bloomberg ยังรายงานว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนหนึ่งสนับสนุนให้ BoJ ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
อีกทางด้านหนึ่ง คู่เงิน AUDUSD ได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นในตลาดที่ดีขึ้น ร่วมกับข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ คู่เงิน NZDUSD ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบหลายวัน เนื่องจากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในนิวซีแลนด์ที่ลดลงในเดือนกรกฎาคม ส่วนทางด้าน คู่เงิน USDCAD กลับไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีข้อมูลอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 40 เดือนในแคนาดา และราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง ขณะที่ เทรดเดอร์กำลังประเมินข้อมูลใหม่เพื่อสนับสนุนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางแคนาดา (BoC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ปรับลดไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังร่วงลงไปถึงระดับต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ระหว่างการปรับตัวลงต่อเนื่องสามวันติดต่อกัน เนื่องจากข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา (API) รายงานว่าปริมาณน้ำมันสำรองรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งขัดกับการคาดการณ์ว่าจะมีตัวเลขที่ลดต่ำลง โดยปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานยังรวมไปถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความต้องการพลังงาน และการขาดการรายงานข่าวสารที่อาจกระทบต่อการผลิตหรือการจัดหาน้ำมัน
ทั้งนี้ แรงเทซื้อทองคำยังคงยึดราคาสูงสุด แม้ขาดแรงผลักดันขาขึ้นในภายหลัง ขณะที่สถานการณ์ในตลาดยังมีความไม่แน่นอน ผนวกกับดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้เทรดเดอร์หันเหความสนใจมาที่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
นักลงทุนในตลาดกำลังรอคอยอย่างใจจดใจจ่อกับการรายงานผลการประชุมนโยบายการเงินล่าสุดของ Fed ซึ่งอาจยืนยันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนและสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น
หากแนวโน้มการประชุมดูเหมือนจะสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดและสนับสนุนการฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงขาขึ้นอาจขึ้นอยู่กับแถลงการณ์ของ Powell ประธาน Fed ในการประชุมประจำปีที่ Jackson Hole และการรายงานตัวเลขเบื้องต้นของดัชนี PMI ประจำเดือนสิงหาคมจากประเทศเศรษฐกิจหลัก
นอกจากนี้ การแก้ไขข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร (NFP) ประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเผยแพร่ในช่วงการซื้อขายในฝั่งอเมริกาเหนือ จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยการแก้ไขที่มีตัวเลขปรับลดลงเกือบหนึ่งล้านตำแหน่งงานอาจเพิ่มแรงกดดันด้านลบต่อดอลลาร์สหรัฐฯก่อนการเผยแพร่รายงานผลการประชุมของ Fed
ขอให้คุณโชคดีในการเทรด !